jกฎหมาย (law)หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความ
สลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการ
ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด วามจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมี
มากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด
วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย
กฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไป
อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา
ในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะ
สมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงวงศาคณาญาติอีกหรือจน
ตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
เสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น เช่นไปตลาดก็มีการซื้อขายและ ต้องมี กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็น
ข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน
ประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากร
หน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบัย เช่น
กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้
กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิด
ตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง
อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย
และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย ต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น
หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความ
ไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย นั่นเอง
ที่มาของกฎหมาย
คำว่า”ที่มาของกฎหมาย” นักกฎหมายหลายท่านให้ความหมายไว้แตกต่างกัน บางทานหมายถึงแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย บางท่านหมายความถึงแหล่งที่จะค้นพบกฎหมาย หรือบางท่านอาจหมายความถึงศาลหรือผู้ที่จะนำกฎหมายไปปรับใช้กับคดีที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่านักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แต่ที่มาของกฎหมายโดยทั่วไปแล้วมีความใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายหลักสองระบบคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น
2. จารีตประเพณี ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย
3. หลักกฎหมายทั่วไป ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้น
ที่มาของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
1. จารีตประเพณี ถือว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ
2. คำพิพากษาของศาล จารีตประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
3. กฎหมายลายลักษณ์อักษร ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาล บางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย
4. ความเห็นของนักนิติศาสตร์ ระบบกฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้
5 .หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ซึ่งเรียกว่ามโนธรรมของผู้พิพากษา(Squity) ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ประเภทของกฎหมาย
การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้แบ่งว่าจะใช้อะไรเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งอย่างคร่าว ๆ ก่อนโดยแบ่งกฎหมายออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กฎหมายภายใน ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยองค์กรที่มีอำนาจภายในรัฐหรือประเทศ และกฎหมายภายนอก ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นจากสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
กฎหมายภายใน และกฎหมายภายนอก ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกหลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้กฎหมายภายใน แบ่งได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์การแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น
1.2 กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารีตประเพณีต่าง ๆ ที่นำมาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่มาของกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่จะยกมาปรับแก้คดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น”
2. ใช้สภาพบังคับกฎหมายเป็นหลักในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา ได้แก่ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีโทษตามบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฯลฯ เป็นต้น
2.2 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง สภาพบังคับทางแพ่งมิได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนสภาพบังคับทางอาญา แต่ก็อาจสังเกตได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การบังคับชำระหนี้ การชดใช้ค่าเสียหาย หรืออาจสังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ กฎหมายใดที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญา ก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง
3. ใช้บทบาทของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 กฎหมายสารบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดโดยทั่วไปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติ
3.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปใช้ว่าเมื่อมีการทำผิดบทบัญญัติกฎหมาย จะฟ้องร้องอย่างไร จะพิจารณาตัดสินอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ กฎหมายวิธีสบัญญัติก็คือ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการเอาตัวผู้กระทำผิดไปรับสภาพบังคับนั่นเอง เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชน
และครอบครัว เป็นต้น
4. ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
4.1 กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด เป็นต้น
4.2 กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในฐานะที่รัฐเป็นผู้ปกครอง จึงต้องมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติป้องกัน การค้ากำไรเกินควร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ เป็นต้น
กฎหมายภายนอก กฎหมายภายนอก หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ได้แก่ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐที่จะปฏิบัติต่อกัน เมื่อมีความขัดแย้งหรือเกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ หรือได้แก่ สนธิสัญญา หรือเกิดจากข้อตกลงทั่วไป ระหว่างรัฐหนึ่งกับรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เป็นคู่ประเทศภาคี ซึ่งให้สัตยาบันร่วมกันแล้วก็ใช้บังคับได้ เช่น สนธิสัญญาไปรษณีย์สากล เป็นต้น
2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง เมื่อเกิดความขัดแย้ง ข้อพิพาทขึ้น จะมีหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาตัดสินคดีความอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น ประเทศไทยเรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกับแห่งกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับกับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยกับบุคคลที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ
3. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ได้แก่ สนธิสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งประเทศหนึ่งยินยอมหรือรับรองให้ศาลของอีกประเทศหนึ่ง มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีและลงโทษบุคคลประเทศของตนที่ไปกระทำความผิดในประเทศนั้นได้ เช่น คนไทยไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาแล้วกระทำความผิด ศาลสหรัฐอเมริกาก็พิจารณาตัดสินลงโทษได้ หรือบุคคลประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เป็นการยากลำบากที่จะนำตัวมาลงโทษได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้ประเทศที่ผู้กระทำความผิดหนีเข้าไปจับตัวส่งกลับมาลงโทษ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรม ปัจจุบันนี้ประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และอิตาลี ฯลฯ เป็นต้น
วิวัฒนาการของกฎหมาย
ในประเทศไทยแต่เดิมกฎหมายไม่ได้ประกาศให้ราษฎรทราบอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และปรากฏในพระราชปรารภของกฎหมายลักษณะอาญาซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้วว่า พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยแต่โบราณได้รับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ พระมนูสาราจารย์ซึ่งเป็นกฎหมายในมัชฌิมาประเทศ แต่สำหรับกรณีที่คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไม่กล่าวถึงก็ดี หรือประเพณีและความ นิยมของประเทศไทยแตกต่างกับมัชฌิมาประเทศก็ดี พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้นเป็นครั้งคราวนี้ ต่อๆ มาก็มากมายซับซ้อนลำบากแก่การพิพากษาคดี และบางฉบับก็ล่วงพ้นสมัยกฎหมายบางฉบับก็ขัดแย้งกัน ฉะนั้น นานๆ ทีหนึ่ง พระมหากษัตริย์ก็โปรดให้ลูกขุน ณ ศาลาและลูกขุน ณ ศาลหลวง ชำระสะสางกฎหมาย และเมื่อได้ชำระแล้วพระมหากษัตรย์ย่อมทรงโปรดให้ยกเลิก กฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยเสีย
คงไว้แต่ที่ยังใช้ได้ และจัดระเบียบเข้าเป็นลักษณะมีหมวดหมู่และมาตราเพื่อให้คนทั้งหลายเข้าใจง่ายขึ้น การชำระสะสางกฎหมายครั้งสุดท้ายได้ทำในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และได้เขียนในสมุดข่อยสำหรับใช้ในราชการเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อได้มีเครื่องพิมพ์ในประเทศไทย ก็ได้มีการพิมพ์กฎหมายของประเทศไทย ครั้งแรกโดยหมอบรัดเลย์และต่อมาโดยเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ แต่กฎหมายสองเล่มไม่เหมาะกับกาลสมัยเพราะกฎหมายสองเล่มย่อมใช้ได้เท่าที่เกี่ยวกับ ประเพณีของไทย เช่น ครอบครัว มรดก แต่สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ กฎหมายสองเล่มยังบกพร่องอยู่ เนื่องด้วย เสด็จในกรมหลวงราชบุรีได้ทรงศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม และทรงนำกฎหมายอังกฤษ มาสอน ทรงเขียนตำรากฎหมายตามที่เป็นอยู่ในกฎหมายอังกฤษ และผู้พิพากษาศาลไทยก็นำกฎหมายอังกฤษตามที่สอนและตามที่เขียนไว้ในตำรา มาใช้บังคับแก่คดี การกระทำเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการยอมรับเอากฎหมายอังกฤษมาใช้เป็นกฎหมาย หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายอังกฤษเท่ามีการสอนมีการเขียนในตำรา และเท่าที่นำมาใช้ในศาลไทยได้กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีนี้มิได้มีเฉพาะกรณีที่ในประเทศไทย ยอมรับเอากฎหมายอังกฤษมาใช้เท่านั้น กล่าวคือ ประเทศเยอรมันก็เคยได้ยอมรับเอากฎหมายโรมันไปใช้ในประเทศเยอรมันก่อนหน้า ที่ประเทศเยอรมันจะได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายเหมือนกัน ทั้งนี้ก็อาศัยเหตุผลเช่นเดียวกันคือ กฎหมายประเทศเยอรมันขณะนั้นยังบกพร่องอยู่ ต่อมาประเทศไทยได้เริ่มใช้ประมวลกฎหมาย ตั้งต้นด้วยกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ ๑๒๗ และต่อมาก็ได้บัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายเหล่านี้ส่วนมากได้คัดลอกเทียบเคียงมาจากประมวลกฎหมายประเทศภาคพื้นยุโรป
วิวัฒนาการของกฎหมายต่างประเทศประมวลกฎหมายไทยในเวลาปัจุบันได้คัดเลือกหรือเทียบเคียงมาจากประเทศภาคพื้นยุโรป (และบางส่วนจากประมวลกฎหมายของอินเดีย แต่เป็นส่วนน้อย) ดังนั้นจึงของกล่าววิวัฒนาการของกฎหมายต่างประเทศในภาคพื้นยุโรปดังนี้
วิวัฒนาการแห่งกฎหมายโรมัน กฎหมายโรมันเป็นกฎหมายของบุคคลที่อยู่ในจังหวัดหรือนคร ไม่ใช่กฎหมายของชนบท และอาจแบ่งวิวัฒนาการแห่งกฎหมายโรมันออกเป็นสองสมัย คือในสมัยที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ และในสมัยที่กรุงโรมมีพระเจ้าจักรพรรดิดังจะได้กล่าวโดยลำดับ ในสมัยที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) กฎหมายโรมันเป็นกฎหมายของนครรัฐ โดยเหตุนี้จึงเรียกว่า Jus Civile ซึ่งแปลว่ากฎหมายของพลเมือง กฎหมายนี้ประสงค์จะใช้สำหรับชนชาติโรมันโดยแท้ และไม่ประสงค์จะให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าว ในสมัยนั้นได้มีการรับรองเสรีภาพ ในทรัพย์สินเหนือที่ดินด้วย กฎหมายเก่าแก่ของโรมัน คือ กฎหมายสิบสองโต๊ะ หรือที่จารึกบนศิลาสิบสองแผ่น ( ในราวปี ๔๕๐ ก่อนคริสต์ศักราช ) สาระสำคัญของกฎหมายมีดังนี้
ในส่วนที่เกี่ยวแก่ครอบครัวได้ถือหลัก บิดาแห่งครอบครัว ( Pater Familias ) มีอำนาจเด็ดขาดเหนือบุคคลในครอบครัว กล่าวคือ ไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของบิดาแห่งครอบครัวเลย อำนาจนี้จำกัดอยู่โดยจารีตประเพณีและศาสนาเท่านั้น ฉะนั้น บิดาแห่งครอบครัว จึงมีอำนาจเหนือชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลในครัวครัวอย่างเด็ดขาด และอาจขายบุคคลในครอบครัวเป็นทาสได้ แต่ถ้าขายบุคคลเป็นทาสไปสามครั้งแล้วก็หมดอำนาจของบิดาแห่งครอบครัว ทั้งนี้กฎหมายโรมันได้กำหนดไว้เพื่อลงโทษบิดา
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินได้ถือหลักว่า จะต้องทำตามแบบพิธีโดยเคร่งครัด เช่น ในการซื้อขาย ผู้ซื้อจะต้องมอบทรัพย์ที่ซื้อและกล่าวถ้อยคำที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาซื้อขายจึงจะเกิดขึ้น ตัวอย่าง แต่เมื่อกรุงโรมได้มีการติดต่อในทางเศรษฐกิจกับชนชาติอื่น ความเคร่งครัดของกฎหมายก็ได้ถูกทำให้ผ่อนคลายลงมา ทั้งนี้โดยการตีความแห่งกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ถ้อยคำแห่งบทกฎหมายคงเป็นไปตามเดิม แต่ได้ทำนิติกรรมเพียงเป็นแบบวิธี เช่น เมื่อกฎหมายโรมันบัญญัติว่า บิดาที่ขายบุตรเป็นทาสมาสามครั้งก็หมดอำนาจของบิดาแห่งครอบครัว บิดาซึ่งประสงค์จะให้บุตรหลุดจากอำนาจปกครองของบิดา เพื่อให้บุตรไปตั้งครอบครัวของตนเองโดยอิสระ บิดาก็แกล้งเอาบุตรไปขายหลอกๆ สามครั้ง บุตรก็หลุดจากอำนาจของบิดาเป็นต้น นอกจากนี้ การพาณิชย์ก็ได้ทำให้เกิดกฎหมายที่เป็นอิสระจากแบบพิธีเก่าๆ เหล่านี้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายสิบสองโต๊ะของโรมันย่อมใช้บังคับเฉพาะชนชาติโรมัน และไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าว และโดยเหตุนั้นสำหรับคนต่างด้าว ผู้พิพากษาจึงไม่ผูกมัดกับกฎหมายนี้ โดยเหตุนี้จึงเกิดมากฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายของโลก ( Jus gentium ) ขึ้นอีกกฎหมายหนึ่ง ซึ่งใช้ในการติดต่อกับคนต่างด้าว และเป็นกฎหมายที่ไม่ผูกมัดกับวิธีโดยเหตุนี้กฎหมายจึ่งได้กลายเป็นกฎหมายของโลกไป ในสมัยที่กรุงโรมมีพระเจ้าจักรพรรดิ ความจำเป็นในทางการเมือง และทางเศรษฐกิจบังคับให้ต้องมีกฎหมายของโลกเกิดขึ้น ฉะนั้น Jus gentium จึงเป็นกฎหมายส่วนหนี่งของกฎหมายโรมัน และเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับร่วมกัน และใช้แก่คนทุกเผ่าที่ร่วมอยู่ในจักรวรรดิโรมัน คำพิพากษา วิชากฎหมาย และการบัญญัติกฎหมายของพระเจ้าจักรพรรดิได้ทำให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ให้ความยุติธรรมและเหมาะสมกับการปฎิบัติยิ่งขึ้น ความจริงตั้งแต่สมัยกรุงโรมมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ ผู้พิพากษาก็ได้วางหลักกฎหมาย สำหรับพิพากษาคดีอยู่แล้ว คือก่อนหน้าที่ผู้พิพากษาจะเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาย่อมประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่าเขาจะใช้หลักกฎหมายอย่างใด แม้ผู้พิพากษาจะไปแตะต้องกฎหมายไม่ได้ก็จริง แต่ผู้พิพากษาก็มีอำนาจรับหรือไม่รับฟ้อง ฉะนั้น แม้ตามกฎหมายสิบสองโต๊ะจะฟ้องคดีไม่ได้ ผู้พิพากษาก็รับฟ้องได้ และนอกจากนั้น คู่กรณียังทำสัญญาอนุญาโตตุลาการมอบให้ผู้พิพากษาพิพากษาคดีได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้พิพากษามีอำนาจพิพากษาคดีโดยกว้างขวาง
วิวัฒนาการแห่งกฎหมายฝรั่งเศสและประมวลกฎหมายต่างๆ ประมวลกฎหมายฝรั่งเศสห้าฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้เป็นกฎหมายที่ต่างประเทศรับเอาไปดัดแปลงและนำไปเป็นบัญญัติเป็นกฎหมายของตน ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะภาษาและอารยธรรมของฝรั่งเศสได้แพร่หลายไปในสมัยนั้น แต่เป็นเพราะกฎหมายฝรั่งเศสใช่ถ้อยคำแจ่มแจ้งดี และความคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น ฉะนั้น จึงควรพิจารณาถึงวิวัฒนาการของกฎหมายฝรั่งเศสโดยลำดับ
เมื่อพวกฟรังค์รบชนะดินแดนแกลเลียนนั้น เป็นขณะที่กฎหมายเยอรมันเดิมและกฎหมายโรมันผสมผสานกัน ในตอนเหนือของฝรั่งเศส กฎหมายของพวกฟรังค์และกฎหมายโรมันที่ได้ยอมรับมาใช้ได้กลายเป็ฯกฎหมายจารีตประเพณีของฝรั่งเศสไป ส่วนในตอนใต้ของฝรั่งเศส ได้รับเอากฎหมายโรมันมาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ย้อมรับกฏหมายโรมันเหมือนดังประเทศเยอรมัน เพราะกฎหมายฝรั่งเศสเดิมได้ฝังรกรากแน่นหนา แต่ในตอนใต้ของฝรั่งเศสได้นำเอากฎหมายโรมันมาสอนในมหาวิทยาลัย พระเจ้านโปเลียนได้จัดให้มีการร่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและได้ประกาศใช้เมื่อ ค.ศ ๑๘๐๔ โดยได้ทรงร่วมร่างด้วยพระองค์เองบ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสนี้ ได้เอาความคิดของกฎหมายเยอรมันเก่าไปบัญญัติไว้บ้าง และเป็นผลของการปฏิบัติฝรั่งเศส ซึ่งมุ่งจะรักษาผลประโยชน์ของพลเมืองที่มีทรัพย์สมบัติบ้าง ( พวกขุนนางและพระได้หมดเอกสิทธิ์ไปแล้วโดยการปฏิวัติ ) และโดยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสจึงได้ให้เสรีภาพในทรัพย์สิน และเสรีภาพในการทำสัญญากฎหมายนี้ได้ใช้ถ้อยคำชัดเจนดี และได้ทำชื่อเสียงให้กับพระเจ้านโปเลียนมากกว่าชัยชนะในการทำสงครามของพระองค์จนเรียกประมวลกฎหมายแพ่งนี้ว่า ประมวลกฎหมายนโปเลียนอยู่จนบัดนี้
ประมวลกฎหมายอื่นๆ ประมวลกฎหมายของต่างประเทศอื่นๆ ได้เทียบเคียงมาจากประมวลกฎหมายฝรั่งเศส และเป็นธรรมดาที่ประมวลกฎหมายฉบับหลังๆย่อมจะดัดแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ซึ่งได้นำความคิดใหม่ๆมาบัญญัติไว้มาก เช่น ความคิดเรื่องนิติกรรม เป็นต้น เพราะบัญญัติหลังประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเกือบ ร้อยปี ส่วนประมวลกฎหมายญี่ปุ่นนั้น ได้นำต้นร่างของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันไปเทียบเคียง จึงมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายเยอรมันเป็นส่วนมาก ประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ บรรพ ๒ ของไทยฉบับแรกได้เดินตามประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส และของสวิส แต่ต่อมาเพียงปีเศษ ประมวลกฎหมายฉบับนั้นได้ถูกยกเลิก และได้ประกาศใช้ใหม่โดยเดินตามประวมลกฎหมายแพ่งเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นส่วนมาก ส่วนที่เทียบเคียงมากจากประมวลกฎหมายฝรั่งเศส และประมวลกฎหมายสวิสนั้นมีประปราย ทั่งนี้ เพราะเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นมีหลักเกณฑ์ทันสมัยมากกว่า โดยเหตุนี้ การศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและญี่ปุ่น จึงช่วยทำความเข้าใจประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยได้มาก
การจัดทำกฎหมายไทย
ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบประมวลกฎหมาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบันมีการจัดทำกฎหมายขึ้นใช้หลายรูปแบบ เรียงตามลำดับฐานะหรือความสำคัญของกฎหมาย4 จากสูงไปต่ำ ดังนี้ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ (พระราชกำหนดประมวลกฎหมาย) พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และกฎหมายท้องถิ่น การจัดทำกฎหมายรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ มีขั้นตอนและวิธีการแตกต่างกัน ดังนี้
การจัดทำรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประชาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบการบริหารประเทศ ผู้ที่มีอำนาจจัดหาสูงสุดในการปกครองประเทศขณะนั้น ไม่ว่าจะได้อำนาจมา โดยวิธีใดก็ตาม อาจจะเป็นประมุขของประเทศ หรือหัวหน้าคณะปฏิวัติหรอรัฐประหาร ที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองจากการใช้กำลัง มาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ที่มีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง การจัดทำรัฐธรรมนูญอาจกระทำอย่างรวบรัด ตั้งแต่การยกร่าง การพิจารณาโดยไม่เปิดเผย แล้วประกาศใช้เลยก็ได้ แต่โดยหลักการแล้วเท่าที่ผ่านมา หัวหน้าคณะปฏิวัติจะถวายอำนาจการตรารัฐธรรมนูญแต่พระมหากษัตริย์ โดยนำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้ เช่น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 และ พ.ศ. 2520 เป็นต้น
ในสถานการณ์ปกติ การจัดทำรัฐธรรมนูญ จะมีการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างและพิจารณา อาจเรียกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ เมื่อยกร่างและพิจารณาเสร็จแล้วก็จะนำขึ้นทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้โดยมีสภาดังกล่าวเป็นผู้รับสอนพระบรมราชโองการ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับปัจจุบัน เป็นต้น
การจัดทำพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มีขั้นตอนและวิธีการดังนี้
การเสนอร่างพระราชบัญญัติ
ผู้ที่มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคการเมืองที่สังกัดมีมติให้เสนอได้ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000คน เสนอร่างพระราชบัญญัติได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ หรือแนวนโยบายแห่งรัฐ ร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองด้วย
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ได้แก่ รัฐสภา โดยต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณา
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาโดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ
- วาระที่ 1 รับหลักการ: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเฉพาะ หลักการของร่างพระราชบัญญัติว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง มีความเหมาะสม จำเป็นหรือไม่ โดยไม่พิจารณารายละเอียดอื่น ๆ แล้วลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ถ้าไม่รับหลักการก็ตกไป ถ้ารับหลักการก็จะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณารายละเอียด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนมีสิทธิเสนอขอเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ต่อประธานคณะกรรมาธิการ เรียกว่า แปรญัตติ
- วาระที่ 2 แปรญัตติ: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ที่มีการขอแปรญัตติ และลงมติเฉพาะมาตรานั้นว่าจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ หรือคงไว้ตามเดิม
- วาระที่ 3 ลงมติให้ความเห็นชอบ: ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมใด ๆ อีกไม่ได้ ถ้าไม่เห็นชอบก็ตกไป ถ้าเห็นชอบด้วยก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา
วุฒิสภาจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมา โดยแบ่งออกเป็น 3 วาระ เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 30 วัน ถ้าไม่เสรีที่ประชุมอาจลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 105 วัน และวุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสรีภายใน 20 วัน ถ้าไม่เสรีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบ
ถ้าวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลา 180 วันได้ล่วงพ้นไป ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติเดิม ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
การตราร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้ว มิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยีนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
การประกาศใช้พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
การจัดทำพระราชกำหนด
พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่ออกโดยผ่ายบริหาร ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับ เช่น พระราชบัญญัติ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แล้วนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ พระราชกำหนดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. พระราชกำหนดทั่วไป จะออกได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลดภัยของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดพิบัติสาธารณะ
2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา จะออกได้ในระหว่างสมัยประชุม กรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
การเสนอร่างพระราชกำหนด
ผู้เสนอร่างพระราชกำหนด ได้แก่ รัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น ถ้ามีความจำเป็นจะต้องขึ้นภาษีอากรอย่างรีบด่วน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นความลับ การขึ้นภาษีอากรนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้เสนอ เป็นต้น
การพิจารณาร่างพระราชกำหนด
ผู้พิจารณาร่างพระราชกำหนด คือ คณะรัฐมนตรี โดยจะพิจารณาว่าพระราชกำหนดนั้นเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ แล้วลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้าอนุมัติก็ตกไป
การตราพระราชกำหนด
ผู้ตราพระราชกำหนด ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงปรมาภิไธย และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
การประกาศใช้พระราชกำหนด
พระราชกำหนดที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจินุเบกษาแล้ว จึงจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายพระราชกำหนดที่ประกาศใช้แล้ว คณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภา ถ้าเป็นพระราชกำหนดทั่วไปจะต้องเสนอโดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นโดยเร็ว ถ้าเป็นพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน การพิจารณาพระราชกำหนดของสภา จะพิจารณาเช่นเดียวกับการพิจารณาพระราชบัญญัติแล้วลงมติอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นตกไป สิ้นผลบังคับใช้ไม่เป็นกฎหมายอีกต่อไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ถ้ารัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป และการพิจารณาต้องกระทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศใน
การจัดทำพระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์รองลงมาจากพระราชบัญญัติ การออกพระราชกฤษฎีกาต้องอาศัยกฎหมายอื่นที่มีศักดิ์สูงกว่าซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจให้ออกได้ เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติให้การแบ่งส่วนราชการในสำนักเลขานุการรัฐมนตรี กรม หรือส่วนรายการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ให้ตราเป็นพระราช-กฤษฎีกา เป็นต้น ดังนั้นการออกพระราชกฤษฎีกาจะขัดต่อกฎหมายแม่บทไม่ได้
การเสนอร่างพระกฤษฎีกา
ผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ เช่นพระราชกฤษฎีกา ค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นผู้เสนอ เป็นต้น
การพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา
ผู้พิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โยพิจารณาว่าพระราชกฤษฎีกานั้น มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจออกได้หรือไม่ มีข้อความใดขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแม่บทหรือไม่
การตราพระราชกฤษฎีกา
ผู้ตราพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่าเหมาะสมและใช้ได้ก็จะนำพระราชกฤษฎีกานั้นขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา
พระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงทลพระปรมาภิไธย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
การจัดทำกฎกระทรวง
กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งรัฐมนตรีผู้รับการตามพระราชบัญญัติ ได้ออกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ดังนั้นกฎกระทรวงจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแม่บท
การเสนอกฎกระทรวง
ผู้เสนอกฎกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น กล่าวคือ เป็นเรื่องของกระทรวงใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นก็เป็นผู้เสนอ
การพิจารณากฎกระทรวง
ผู้พิจารณากฎกระทรวง ได้แก่ คณะรัฐมนตรี โดยจะพิจารณากลั่นกรองว่ามีข้อความใดขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทหรือขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่
การตรากฎกระทรวง
ผู้ตรากฎกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เป็นผู้ลงนามประกาศใช้
การประกาศใช้กฎกระทรวง
กฎกระทรวงที่รัฐมนตรีลงนามแล้ว เมื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายนอกจากนี้ยังมีประกาศกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีอกนาจออกได้โดยอาศัยกฎหมายแม่บทเช่นเดียวกับกฎกระทรวง แต่ไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้รับผิดชอบเป็นผู้ลงนาม แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
การจัดทำกฎหมายท้องถิ่น
กฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองตนเอง เป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง โดยออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นตนเองได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 รูป ซึ่งสามารถออกกฎหมายใช้บังคับในท้องถิ่นของตนเองได้ คือ
1. เทศบัญญัติ เป็นกฎหมายที่เทศบาลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเทศบาลนั้น ๆ
2. ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำขึ้นใช้ในเขตจังหวัดนั้น ๆ
3. ข้อบังคับตำบล เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตตำบลนั้น ๆ
4. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานคร
5. ข้อบังคับเมืองพัทยา เป็นกฎหมายที่เมืองพัทยาจัดทำขึ้นใช้บังคับในเขตเมืองพัทยา
การบังคับใช้กฎหมาย
กฎหมายที่ผ่านกระบวนการจัดทำและประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับใช้ได้ การบังคับข้อกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย อาณาเขตที่กฎหมายใช้บังคับ และบุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ
วันเริ่มบังคับใช้กฎหมาย
วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะมีผลตั้งแต่เมื่อใดนั้น โดยทั่วไปในกฎหมายนั้นจะระบุวัน เวลา ที่กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ไว้ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันเดียวกันกับวันที่ประกาศใช้กฎหมายก็ได้ แต่ถ้าในกฎหมายนั้นไม่ได้ระบุวันที่จะเริ่มบังคับใช้ไว้ ก็จะมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักที่ว่า “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง” เว้นแต่บางกรณีที่มี่ความจำเป็นจะต้องบังคับใช้ย้อนหลัง ก็จะมีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายนั้นว่า ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายอาจกำหนดได้ดังนี้
1. ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศกิจจานุเบกษา: จะใช้ในกรณีรีบด่วนโดยให้กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้กฎหมายจะต้องไปค้นดูว่าราชกิจจานุเบกษาลงประกาศวันใด ก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันไหนเป็นต้นไป
2. ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา: ในกรณีปกติโดยทั่วไป วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งผู้ใช้กฎหมายจะต้องไปค้นดูว่าราชกิจจานุเบกษาลงประกาศวันใดวันถัดมากฎหมายนั้นก็จะมีผลบังคับใช้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าก่อน 1 วัน
3. ใช้บังคับในอนาคต: ในกรณีที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือประชาชน ได้จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วันเริ่มบังคับใช้กฎหมายจะกำหนดไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดให้ระยะเวลาผ่านพ้นไประยะหนึ่ง จึงจะให้กำหมายมีผลบังคับใช้ เช่นพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องไปค้นดูราชกิจจานุเบกษาว่าลงประกาศวันใด แล้วต้องรอให้ผ่านพ้นไปอีกสิบห้าวัน กฎหมายนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ได้
อาณาเขตที่กฎหมายใช้บังคับ
โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับเฉพาะในอาณาเขตของรัฐนั้นหรือประเทศนั้นโดยตลอดทั่วทั้งรัฐหรือประเทศ กฎหมายจึงมีผลบังคับใช้เฉพาะในอาณาเขตประเทศไทยซึ่งเรียกว่า “ราชอาณาจักรไทย” ซึ่งหมายถึง
1.พื้นดินและพื้นน้ำในอาณาเขตประเทศไทย รวมทั้งภูเขา แม่น้ำ อุโมงค์ และใต้ดินด้วย
2.ทะเลอันห่างจากชายฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน12 ไมล์ทะเล
3.ทะเลอันเป็นอ่าวไทย
4.พื้นอากาศเหนือพื้นดินและทะเลอันเป็นอาณาเขตประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นบางกรณีเกี่ยวกับอาณาเขตกฎหมายไทยใช้บังคับคือ
- กรณียกเว้นบังคับใช้ออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ การกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง เช่น ปลอมเงินตรา หรือความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง ฯลฯ เป็นต้น
- กรณียกเว้นไม่บังคับใช้ตลอดทั่วราชอาณาจักร อาจจะเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ สังคม ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม เล่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498 ใช้บังคับเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีภูมิลำเนาในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าว เป็นต้น
บุคคลที่กฎหมายบังคับ
โดยหลักทั่วไปกฎหมายของรัฐใดประเทศใด ย่อมจะใช้บังคับแกบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นหรือประเทศนั้น กฎหมายไทยจึงมีผลใช้บังคับกับทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนสัญชาติใด เชื้อชาติใด ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นตามกฎหมายบางประเทศ ที่จะไม่ใช้บังคับกับบุคคลบางคน
ข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1. พระมหากษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
2. สมาชิกรัฐสภา ในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขังหรือหมายเรียกตัว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐาะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีขณะกระทำความผิด ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็น สมาชิกโดยพลัน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมสภาวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
1. ประมุขของรัฐต่างประเทศ
2. ทูตและบริวาร
3. กองทัพที่เข้ามายึดครองอาณาจักร
4. บุคคลอื่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองให้ได้รับเอกสิทธิ์และคุ้มครอง
5. บุคคลที่มีกฎหมายพิเศษให้ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง เช่น บุคคลที่ทำงานในองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ ฯลฯ เป็นต้น
บุคคลและสถาบันผู้ใช้กฎหมาย
การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้องกับบุคคลและสถาบันหลายฝ่าย ได้แก่ ราษฎร เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม
- ประชาชน: ในชีวิตประจำวันของประชาชนนั้น ต้องกระทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย การกระทำเหล่านั้นจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา ดังนั้นประชาชนซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง
- เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ได้แก ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งมีหน้าที่สืบสวน จับกุม ป้องก้น และปราบปรามการทำความผิดในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีบทบาทหน้าที่มากที่สุด เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่สืบสวน จับกุม สอบสวน ตลอดจนเปรียบเทียบในคดีอาญาทั่ว ๆ ไป
- พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล อาจจะเป็นข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด หรือเจ้าพนักงานอื่นที่มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลก็ได้ แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีทั้งปวงแทนรัฐ โดยเป็นโจทย์ในคดีอาญา ทำหน้าที่ตรวจสำนวนการสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ (ผู้เสียหายอาจตั้งทนายเป็นโจทย์ฟ้องคดีเองก็ได้) ตลอดจนเป็นทนายโจทย์หรือทนายจำเลย ว่าความในคดีแพ่งคดีอาญาทั้งปวงให้ส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ
- ทนายความ หมายถึง ผู้ที่เรียนจบวิชากฎหมายและจดทะเบียนรับอนุญาตให้มีสิทธิว่าความในศาล ทนายความเป็นอาชีพอิสระ มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงเสนอต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทย์หรือจำเลย คดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตามความจริงก็ไม่มีกฎหมายห้ามประชาชนผู้เป็นโจทย์หรือจำเลยไม่ให้ว่าความด้วยตนเอง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมายลึกซึ้ง จึงจำเป็นต้องมีทนายความช่วยเหลือ บางกรณีจำเลยในคดีอาญายากจน ไม่มีเงินจ้างทนายความอาจร้องขอให้ศาลตั้งทนายว่าความให้จำเลยก็ได้ คดีประเภทนี้เรียกว่า “คดีศาลขอแรง” และทนายก็เรียกว่า “ทนายขอแรง”
- ศาล หมายถึง ศาลยุติธรรม หรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั่งปวง
การยกเลิกกฎหมาย
การยกเลิกกฎหมาย คือ การทำให้กฎหมายสิ้นสุดการบังคับใช้ ซึ่งกระทำได้ทั่งการยกเลิกโดยตรงและโดยปริยาย
การยกเลิกกฎหมายโดยตรง
เป็นกรณีที่ที่มีกฎหมายระบุให้ยกเลิกไว้อย่างชัดแจ้งมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. กฎหมายนั้นกำหนดวันยกเลิกเอาไว้เอง เช่น บัญญัติเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปเป็นเวลาสองปี” เมื่อครบกำหนด 2 ปี กฎหมายนั้นก็สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเอง
2. ออกกฎหมายใหม่มายกเลิก โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน และมีบทบัญญัติระบุให้ยกเลิก เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นต้น
3. เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด พระราชกำหนดเมื่อประกาศใช้แล้ว จะต้องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้ารัฐสภามีมติไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็จะสิ้นสุดการบังคับใช้
การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย
เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดระบุให้ยกเลิกไว้อย่างขัดแจ้ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เมื่อกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายใหม่ ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
2. เมื่อกฎหมายใหม่มีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า ให้ใช้กฎหมายใหม่ถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายทั้ง 2 กรณี ดังกล่าวต้องใช้กฎหมายใหม่ เพราะเหตุว่า บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา กฎหมายเก่าที่ใช้มาเป็นเวลานานอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัย การใช้กฎหมายใหม่ย่อมเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า
3. กฎหมายแม่บทยกเลิกกฎหมายบริวารถูกยกเลิกด้วย กฎหมายบริวารหรือกฎหมายลูกที่ออกมาใช้โดยอาศัยกฎหมายแม่บท เมื่อกฎหมายแม่บทถูกยกเลิก ถือว่ากฎหมายบริวารถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
หมายเหตุ: การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายอีกวิธีหนคลิกทำข้อสอบ