วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยหรือสยามประเทศได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญซึ่งนั่นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันเกิดจากการรวมตัวกันของคณะราษฎร ภายใต้การนำของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

วันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการต่อรองกันระหว่างสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎร แต่ในที่สุด เพื่อเห็นแก่ราษฎร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475

อย่าไรก็ตามสิ่งซึ่งควรจะต้องรับรู้ก็คือ แท้จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปณิธานตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ที่จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งยังได้ทรงปรึกษากับที่ปรึกษาชาวต่างประเทศคือ พระยากัลยาณไมตรีพร้อมทั้งทรงให้ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ทูลเกล้าฯถวายในปี พ.ศ.2469 และต่อมาได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. 2474 ซึ่งโดยหลักการต่างๆ นั้นมีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจเพียงแต่จะทรงแต่ตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินทั้งหลายแทนพระองค์ แต่ร่างฉบับหลังเสนอให้มีสภานิติบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมา โดยสมาชิกจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดหรือแต่งตั้งบางส่วนกับเลือกตั้งบางส่ว

ในปี พ.ศ. 2472 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่งโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศสยามด้วย ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเงินคงคลัง ส่งผลให้มีการ “ดุล” ข้าราชการ กล่าวคือ ลดจำนวนข้าราชการลงให้เหลือเท่าที่จ่ายเงินเดือนให้ได้ แต่ปัญหาก็เกิดจากการที่เหล่าลูกท่านหลานเธอยังคงรับข้าราชการต่อไปได้ ทำให้ผู้ที่ถูกออกจากราชการรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม และกลายมาเป็นข้ออ้างข้อหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชปณิธานดังกล่าวแล้วที่จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยสักเพียงใด จนถึงขนาดว่าได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรชาวไทยในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 แต่ที่สุดแล้วเป็นที่น่าเสียดายว่าในวันดังกล่าวกลับมิได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เนื่องจากอภิรัฐมนตรีสภาในเวลานั้น กล่าวคือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทัดทานไว้

หลังจากที่งานวันจักรี วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 ผ่านไปโดยที่มิได้การพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ดังที่เป็นข่าว ตลอดจนมิได้มีสัญญาณใดๆว่า จะมีพัฒนาการไปในแนวทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ประเด็นคำถามที่ไม่อาจย้อนอดีตไปหาคำตอบได้ก็คือหากวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยแล้ว เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยังจะคงอุบัติขึ้นหรือไม่ หรือเหตุการณ์นี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่นั้นเอง เพราะความจริงแล้วเมื่อได้พิจารณาพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวที่พระบทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้นมีความแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่ทรงให้ยกร่างดังกล่าวแล้วข้างต้น

กล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจไม่ตรงตามความประสงค์ของคณะราษฎร ซึ่งคือการยึดพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์นั่นเอง

สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ แม้ว่า พระราชบัญญัติการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว จะมีการนำเอารูปแบบการปกครองในรูปแบบการปกครองในระบอบรัฐสภามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศไทยได้ใช้รูปแบบการปกครองดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้ก็ตาม แต่รูปแบบการปกครองดังกล่าวนั้น เป็นรูปแบบการปกครองที่ทันสมัยที่สุดที่มีการนำมาใช้ในทันที โดยที่มิได้ศึกษาประวัติความเป็นมาว่า ก่อนที่ประเทศแต่ละประเทศที่จะใช้รูปแบบการปกครองนี้จะให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่ประชาชนอย่างเต็มที่นั้น ต้องผ่านการเรียนรู้ของประชาชนมาอย่างไรกันบ้าง ดังนั้น แม้พระราชบัญญัติธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวจะมีการกำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแทนไว้ อันถือว่าเป็นหัวใจในการปกครองในระบอบรัฐสภาก็ตาม แต่หากเมื่อในห้วงเวลานั้นประชาชนยังไม่มีความพร้อมแล้วที่สุดการใช้กำลังเข้ายึดพระราชอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่ยอมรับฟังการทัดทานหรือร่างรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีลักษณะการค่อยเป็นค่อยไปจึงเป็นความล้มเหลวในเวลาต่อมา เพื่อเมื่อย้อนกลับไปดูวิกฤตการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเห็นได้ว่าเมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้จัดทำเค้าโครงเศรษฐกิจตามนโยบายที่คณะราษฎร์ได้ตั้งไว้ แต่รัฐบาลกลับไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าเค้าโครงดังกล่าวดำเนินการตามหลักการของคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดมีการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่มีได้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของรัฐธรรมนูญว่ามิได้มีการยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการดำเนินการของรัฐบาลแต่อย่างใดทำให้พระยาพหลพยุหเสนาต้องกลับมาทำหน้าที่หนามยอกเอาหนามบ่ง โดยเป็นผู้นำในการยึดอำนาจกลับคืน

การที่ผู้นำทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเจตจำนงร่วมกันเพียงประการเดียวคือการยุติการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่ไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกัน ทำให้ผู้นำเหล่านั้นไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การเมืองจึงเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจมาอยู่ฝ่ายของตน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในเหตุการณ์การรัฐประหารอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จนมีผู้เรียกกันว่าเป็นวงจรอุบาทว์ หรือ วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย เพราะทั้งหมดก็เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจมาสู่ฝ่ายตนฝ่ายเดียว หาใช่เป็นรูปแบบการปกครองเพื่อประชาชนแต่อย่างใด

แม้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประเทศสยาม มีการปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ อำนาจการปกครองอยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก็คือ การปกครองของประเทศสยามมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทรงปกครองโดยใช้หลักธรรม เพียบพร้อมด้วยทศพิธราชธรรมตามแนวคิดของโลกตะวันออก กล่าวได้ว่า ทรงเป็นธรรมราชา พสกนิกรซึ่งอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารจึงอยู่กันอย่างผาสุก ดังนั้น การที่บ้านเมืองจำต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองตามกระแสโลกจึงควรเป็นวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยร่วมยิ่งกว่า แต่ในเมื่อผู้ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเฉียบพลันไม่ยินยอมประนีประนอมดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจึงเป็นเพียงถ่ายโอนอำนาจจากพระมหากษัตริย์มายังคณะบุคคลที่เข้ายึดอำนาจเท่านั้น

ขณะที่ประชาชนทั้งประเทศ เป็นเพียงข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเหล่าทุกครั้งเมื่อมีการแย่งชิงอำนาจมาสู่ฝ่ายของตนทั้งที่อำนาจนั้นคืออำนาจของประชาชน

ย้อนหลังไป 78 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชเลขา ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าแก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร”

พระราชหัตถเลขาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในเวลานั้น ที่เราต้องศึกษานำมาเป็นบทเรียนมิใช่จดจำแต่เพียงว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น